๑.๑ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N๒ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก
มีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรปรับปรุงทางแยกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนประเสริฐมนูกิจและเชื่อมต่อโครงข่ายทางพิเศษกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก เพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรระดับดิน และระบายการจราจรทางด้านทิศตะวันออกระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โครงการมีระยะทางประมาณ ๑๐.๕ กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการประมาณ กม. ๐+๗๖๔.๕๐๐ (บริเวณเสาตอม่อที่ ๑๐) ของถนนประเสริฐมนูกิจ (ทางหลวงหมายเลข ๓๕๑) เป็นทางยกระดับขนาด ๔ ช่องจราจร ซ้อนทับแนวเกาะกลางของถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านคลองบางบัว ทางแยกลาดปลาเค้าทางแยกเสนานิคม ทางแยกสุคนธสวัสดิ์ และยกข้ามต่อกับทางพิเศษฉลองรัช (ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์) บริเวณทางแยกถนนประเสริฐมนูกิจตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชในรูปแบบทางแยกต่างระดับ ผ่านไปยังทางแยกถนนนวมินทร์ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยมีทางขึ้น-ลง ๒ แห่ง และทางแยกต่างระดับ ๑ แห่ง และจะมีการก่อสร้างสะพานข้าแยกต่าง ๆ บนถนนประเสริฐมนูกิจ จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ (๑) สะพานข้ามคลองบางบัวและแยกลาดปลาเค้า (๒) สะพานข้ามแยกเสนานิคม (๓) สะพานข้ามแยกสุคนธสวัสดิ์ (๔) สะพานข้าแยกรัชดา-รามอินทรา (๕) สะพานข้ามแยกถนนประเสริฐมนูกิจของกรมทางหลวงไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร จะก่อสร้างอยู่ในแนวเขตทางเดิมโดยไม่มีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมแต่อย่างใด
สถานะปัจจุบัน
กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานทบทวนและออกแบบรายละเอียดโครงการ
๑.๒ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายพระราม ๓ - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ ๒ และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่ - ดาวคะนอง รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัย เป็นต้น
โครงการทางพิเศษสายพระราม ๓ - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข ๓๕ (ธนบุรี-ปากท่อ) และมีทางขึ้น-ลงที่จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.๑๓+๐๐๐ ของถนนพระรามที่ ๒ เป็นทางยกระดับขนาด ๖ ช่องจราจร (ทิศทางละ ๓ ช่องจราจร) ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ ๒ มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ ๓ ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด ๘ ช่องจราจร (ทิศทางละ ๔ ช่องจราจร) ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม ๙ โครงการมีทางขึ้น - ลง ๗ แห่ง ระยะทาง ๑๘.๗ กิโลเมตร
สถานะปัจจุบัน
ครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ และเปิดให้บริการเดือน มิถุนายน ๒๕๖๔
๑.๓ โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๒๙ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางจากตัวเมืองภูเก็ต ผ่านอำเภอกะทู้ไปยังหาดป่าตอง ซึ่งทางหลวงดังกล่าวมีขนาด ๒ ช่องจราจร เขตทางแคบ เส้นทางมีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีฝนตกหนัก และยังเกิดปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีปริมาณจราจรสูงตลอดวัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อเพิ่มมาตรฐานแนวเส้นทางให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และ ปลอดภัย แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหาดป่าตอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง มีระยะทางรวม ๓.๙๘ กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา (ถนนผังเมืองรวมสาย ก) ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด ๔ ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ ๒ ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ ๒ ช่องจราจรต่อทิศทาง) ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง ๐.๙ กิโลเมตร แล้วจึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง ๑.๘๕ กิโลเมตร หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง ๑.๒๓ กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๒๙
สถานะปัจจุบัน
อยู่ระหว่างการเสนอโครงการตามขั้นตอน พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ. ๒๕๕๖ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ และเปิดให้บริการในปีงบประมาณ ๒๕๖๗
๑.๔ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับความต้องการการเดินทางและขนส่งสินค้า จึงได้วางแผนการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษอุดรรัถยาไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒ บริเวณอำเภอบางปะหัน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วเชื่อมโยงกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีแนวสายทางต่อเชื่อมจากทางพิเศษอุดรรัถยาที่บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางปะอิน อำเภอบางปะอิน ผ่านอำเภอพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่ อำเภอบางปะหัน บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒ โดยวางแผนให้มีทางเชื่อมต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทรได้โดยตรง รวมระยะทางประมาณ ๓๕ กิโลเมตร ทั้งนี้ ได้ผนวกการศึกษาปรับปรุงทางพิเศษอุดรรัถยา ช่วงบางพูน-บางไทร ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางพิเศษระดับดินให้เป็นทางพิเศษยกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงอุทกภัยด้วย
กทพ. จึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของโครงข่ายถนนทางหลวงในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและขนส่งสินค้าในช่วงอุทกภัยอีกด้วย
สถานะปัจจุบัน
ปัจจุบันการศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
๑.๕ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
๓.๑) เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ และการเงิน สำหรับพิจารณาความเป็นได้และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงาน รวมถึงการพิจารณาทางเลือกรูปแบบในการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับการจัดทำโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ เพื่อให้บริการประชาชนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
๓.๒) เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ สำหรับทางพิเศษทุกสายทาง โดยคำนึงถึงมาตรฐานในการดำเนินงาน และสอดคล้องกับความต้องการเดินทางประจำวันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่ ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย และประหยัด ซึ่งจะสามารถจูงใจให้เกิดการใช้รถจักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม
๓.๓) เพื่อดำเนินการออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) โครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ โครงการนำร่อง (Pilot Project) จำนวน ๑ เส้นทาง ที่มีความเหมาะสม
สถานะโครงการฯ
กทพ. มีโครงการสร้างเส้นทางจักรยานใต้เขตทางพิเศษของ กทพ. จำนวน ๒ โครงการ
- ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑ โครงการ (ถนนงามวงศ์วาน - ถนนสามัคคี ระยะทาง ๒.๗ กิโลเมตร) เปิดใช้บริการตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.
- อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการลงทุนและพัฒนาพื้นที่ ๑ โครงการ(ถนนสามัคคี - ถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทาง ๒.๐๕ กิโลเมตร) มีการนำยางพารามาใช้ในการสร้างเส้นทางจักรยาน๕.๙๔ ตัน ทัั้งนี้ การดำเนินโครงการในเส้นทางฯ อื่นๆ กทพ. ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบและพื้นที่ที่เป็นไปได้ในโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมด ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นได้กำหนดเส้นทางที่ควรเริ่มดำเนินการ คือ ทางจักรยานใต้ทางพิเศษฉลองรัช (ถนนรามอินทรา - ถนนประเสริฐมนูกิจ และถนนประเสิรฐมนูกิจ - ถนนลาดพร้าว) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่
สำหรับโครงการสนามฟุตซอล มีจำนวน ๒๑ สนาม
- ดำเนินการแล้วเสร็จ ๒๐ สนาม เป็นรูปแบบของการจัดสรรพื้นที่ของ กทพ. ให้ กทม. มาดำเนินการสร้างสนามฟุตบอล และลานกีฬา
- อยู่ระหว่างดำเนินการ ๑ สนาม บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษรัชดาภิเษก (ทางลงประชานุกูล) ขนาดพื้นที่๕๐๐ ตารางวา วงเงิน ๕.๔๐ ล้านบาท ได้ผลงานร้อยละ ๕๖ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเดือนกันยายน ๒๕๕๘
คลิกอ่านรายละเอียด
๑.๖ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี
โครงการมีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของโครงข่ายถนนและทางหลวงในปัจจุบัน รวมทั้งอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้ง เป็นการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ซึ่งจะช่วยให้มีการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจเข้าด้วยกัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
โครงการมีระยะทางรวมประมาณ ๑๐๒ กิโลเมตร เริ่มจากทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) แนวสายทางจะไปทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านถนนลำลูกกา บริเวณ กม. ๒๒+๕๐๐ และตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๐๑ ผ่านใกล้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ตัดถนนรังสิต–นครนายก บริเวณ กม. ๕๙+๘๐๐ แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๓ (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม. ๑๑๖+๐๐๐ ตัดข้ามและเลียบไปตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๒๒ เข้าบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ที่ กม. ๑๐+๗๐๐ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
สถานะปัจจุบัน
กทพ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา (บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ไวส โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัท เอ็นไวร์ไซน์ จำกัด) เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี และแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
ปัจจุบันการศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
สอบถามข้อมูลสถานะปัจจุบันของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายนโยบายและแผน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโทรศัพท์ ๐๒-๕๗๙-๕๓๘๐-๙ ต่อ ๒๘๖๓ (คุณอดิเรก) หรือ www.chalongrat-saraburi-expressway.com
- เวทีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘ ที่จังหวัดสระบุรี - เวทีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ ที่จังหวัดนครนายก - เวทีที่ ๓ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๘ ที่จังหวัดปทุมธานี
๑.๗ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่
เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษ เพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดเชียงใหม่
สถานะปัจจุบัน
การศึกษาแผนแม่บทฯ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙
๑.๘ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดทำแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น
เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษ เพื่อจัดทำ
แผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดขอนแก่นสำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดขอนแก่น
สถานะปัจจุบัน
การศึกษาแผนแม่บทฯ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๙
๑.๙ โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงระบบทางพิเศษในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกกับในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ของพื้นที่เขตเมืองในกรุงมหานคร เกิดระบบโครงข่ายทางพิเศษที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป็นการเสริมโครงข่ายที่สามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางบนทางพิเศษโดยที่ไม่ต้องลงสู่ถนนระดับพื้น จึงช่วยลดปัญหาการจราจรในระดับพื้นและช่วยลดความคับคั่งของปริมาณรถที่ใช้ทางพิเศษให้มีทางเลือกและได้รับความสะดวกสะบายในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง รวมทั้งในอนาคตจะสามารถต่อขยายไปเชื่อมโยงระบบทางด่วน สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกชายฝั่งตะวันออกได้ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ตัดผ่านกรุงเทพมหานครจากด้านตะวันตกไปยังทิศตะวันออกได้อย่างสะดวก
โครงการมีระยะทาง ๒.๖ กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา วางตัดตามแนวถนนกำแพงเพชร ๒ ยกระดับข้ามทางพิเศษศรีรัชแล้วเข้าบรรจบกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง (EMU’S DEPOT) โดยมีรูปแบบทางพิเศษยกระดับขนาด ๔ ช่องจราจร (ไป-กลับ) และมีอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ๒ แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับถนนกำแพงเพชร ๒
สถานะปัจจุบัน
กทพ. อยู่ระหว่างการทบทวนและออกแบบรายละเอียดโครงการ
๑.๑๐ โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) กับท่าเรือกรุงเทพ
มีโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) กับท่าเรือกรุงเทพ เป็นทางขึ้น-ลงทางพิเศษที่เชื่อมต่อกับบริเวณพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าของท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับไปตามแนวเกาะกลางของถนนภายในท่าเรือกรุงเทพ เชื่อมต่อกับ ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังทางพิเศษบูรพาวิถีและเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชทิศทางไปยังถนนจตุโชติและถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก
สถานะปัจจุบัน
กทพ. อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม
๑.๑๑ โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี
จากการประชุมหารือเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสุขุมวิท ช่วงจากทางลงทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนครถึงถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมทางหลวง พิจารณาจุดเชื่อมต่อดังกล่าว
ต่อมาได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สนข. ทล. และ กทพ. เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านการจราจร (Traffic Impact Assessment) บริเวณโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายถนนโดยรอบ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมรองรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรทั้งระบบอย่างยั่งยืน
กทพ. จึงว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
๑) ลดการตัดกระแสจราจรของรถที่ลงจากทางพิเศษบูรพาวิถีเพื่อไปยังถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยการก่อสร้างทางเชื่อมต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถีเพื่อไปยังถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี
๒) ลดการตัดกระแสจราจรของรถบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โดยการก่อสร้างทางขึ้น-ลง ทางพิเศษบูรพาวิถี-ถนนบ้านเก่า และทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถี-ถนนสุขุมวิท
๓) ศึกษาผลกระทบด้านการจราจรบริเวณโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายถนนโดยรอบ ให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ
สถานะปัจจุบัน
กทพ. อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม